Menu

ทางรถไฟสายมรณะ

ทางรถไฟสายมรณะ หรือ ทางรถไฟสายพม่า หรือ ทางรถไฟสายกาญจนบุรี ทางรถไฟสายนี้เริ่มต้นจากสถานีชุมทางหนองปลาดุก อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ผ่านจังหวัดกาญจนบุรีข้ามแม่น้ำแควใหญ่ โดยสะพานข้ามแม่น้ำแคว ไปทางทิศตะวันตกจนถึงด่านเจดีย์สามองค์ เพื่อให้ถึงปลายทางที่เมืองตาน-พยูซะยะ ประเทศพม่า ทางรถไฟสายมรณะมีความยาวจากหนองปลาดุกถึงสถานีตาน-พยูซะยะรวม 415 กิโลเมตร เป็นทางรถไฟอยู่ในเขตประเทศไทยประมาณ 303.95 กิโลเมตร และอยู่ในเขตพม่า 111.05 กิโลเมตร มีสถานีจำนวน 37 สถานี ทางรถไฟสายนี้สร้างขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยใช้แรงงานเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรและกรรมกรชาวเอเชียที่กองทัพญี่ปุ่นเกณฑ์มาสร้าง เพื่อใช้เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ผ่านประเทศพม่า ปัจจุบันเส้นทางนี้ไปสุดปลายทางที่บ้านท่าเสาหรือสถานีน้ำตก ระยะทางจากสถานีกาญจนบุรีถึงสถานีน้ำตกเป็นระยะทางประมาณ 77 กิโลเมตร การรถไฟแห่งประเทศไทยเปิดเดินรถบนเส้นทางนี้ทุกวันและจัดรถไฟขบวนพิเศษสายกรุงเทพฯ – น้ำตก ทุกวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดราชการ จุดที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจมากคือช่วงสะพานข้ามแม่น้ำแคว และช่วงโค้งมรณะหรือถ้ำกระแซ ซึ่งเป็นสะพานโค้งเลียบแม่น้ำแควน้อยยาวประมาณ 400 เมตร

ป้ายหยุดรถไฟถ้ำกระแซ (อังกฤษ: Thamkrasae Railway Station) เดิมใช้ชื่อ”สะพานถ้ำกระแซ” อยู่ในเส้นทางรถไฟสายใต้ (ช่วงสถานีรถไฟชุมทางหนองปลาดุก – สถานีรถไฟน้ำตก) หรือทางรถไฟสายตะวันตก ป้ายหยุดรถไฟตั้งอยู่บริเวณสะพานถ้ำกระแซ ซึ่งเป็นสะพานไม้เลียบหน้าผาที่มีความยาวกว่า 450 เมตร เปิดใช้งานเพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยว โดยปัจจุบันที่นี่เป็นจุดหนึ่ง ที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในเส้นทางสายนี้(ทางรถไฟสายมรณะ)

เป็นสะพานทางรถไฟสร้างด้วยไม้ ถูกสร้างในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดนเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งบริเวณนี้เป็นจุดที่สร้างทางรถไฟยากที่สุด เนื่องจากเส้นทางโค้งเลียบเขาลัดเลาะหน้าผาสูงชัน ขนานไปกับลำน้ำแควน้อยที่ต้องใช้เวลาสร้างด้วยความรวดเร็ว เพราะต้องใช้เส้นทางขนยุทโธปกรณ์ เสบียง และกำลังพลทหาร ไปเสริมกำลังฝั่งประเมศพม่าให้เสร็จโดยไว จึงทำให้จุดนี้เชลยศึกเสียชีวิตมากที่สุดของการสร้างทางรถไฟสายนี้ ประมาณ 1,000 กว่าคน เป็นสะพานข้ามเหวลึกที่ยาวที่สุดของสายนี้ ตัวสะพานใช้ไม้ในการก่อสร้าง

ปัจจุบันเป็นจุดท่องเที่ยวอันโด่งดังทั่วโลก ที่ชาวต่างชาติและคนไทยให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ที่รู้จักกันในนาม ”สะพานรถไฟมรณะ”